บทความที่ 13: สมมติของกายและจิต

ก่อนที่จะเรียนรู้เรื่อง รหัสแห่งสติ ต่อไปข้างหน้า เพื่อความเชี่ยวชาญในการเจริญสติ และการดำรงชีวิตอันดีงามในแบบของผู้มีสตินั้น ขอย้อนกลับไปข้างหลังในจุดตั้งต้น สักนิดหนึ่ง เพื่อทบทวนความเข้าใจของผู้เรียนให้เกิดความมั่นใจและความรู้แจ้งให้มากที่สุดที่จะทําได้


“เพราะการดำเนินชีวิตไปข้างหน้านั้น ถ้ามีประสบการณ์ที่ไม่ถูกต้อง หรือ มีการจดจําสิ่งที่ผิด หรือ มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ก็จะส่งผลให้การดำรงชีวิตที่ดำเนินไปครั้งหน้านั้นผิดพลาดไปด้วย”


การเรียนรู้เรื่องรหัสแห่งสติก็เป็นเช่นเดียวกัน ที่จะต้องรู้จริง รู้จนแจ้ง แล้วใช้ไปจนถึงจุดที่จบ ก็คือ รู้จนหมดจด ซึ่งตรงนั้นเป็นเรื่องของปัจเจก คือ เรื่องของแต่ละคนที่จะสามารถใช้รหัสแห่งสติให้เกิดผลสำเร็จจนถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตนได้ตั้งไว้


ดังนั้นบทเรียนบทนี้จึงมีความตั้งใจที่จะทบทวนความรู้เรื่องของ “ชีวิตมนุษย์” ก่อนความรู้อื่นใด ดังนี้

ชีวิตของความเป็นมนุษย์นั้นประกอบด้วยสององค์ประกอบ

  • องค์ประกอบแรกก็คือกาย

  • อีกองค์ประกอบหนึ่งก็คือจิต

เรามาเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้สมมติของการเรียกชื่อ กายและจิต นี้ให้เข้าใจก่อน ก่อนที่จะเข้าไปเรียนรู้ความจริงที่อยู่ในสมมตินี้

เมื่อกล่าวถึง กาย หมายถึง กายมนุษย์ ซึ่งกายมนุษย์ก็ต้องมีลักษณะแบบกายผู้เรียนนี้นั่นเอง ถ้าไม่ใช่กายแบบนี้ ก็ไม่ถูกเรียกว่า กายมนุษย์

“กายมนุษย์”

เป็นสมมุติชื่อที่สรรพสัตว์ใช้เรียกกัน แต่ความเป็นจริง ที่ซ่อน อยู่ในสมมุติที่เรียกว่า กายมนุษย์ นี้นั้น มีองค์ประกอบของธาตุทั้งสี่ประกอบกันอยู่  นั่นคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม

ดังนั้นหากพิจารณาเข้าไปใน กายมนุษย์ ก็จะเริ่มเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในสมมติที่เรียกว่า กายมนุษย์ นี้ว่าแท้จริงแล้วนั้นเป็นเรื่องของ องค์ประกอบธาตุ เท่านั้นเอง

กายมนุษย์นี้มีความอ่อนนุ่มบ้าง แข็งกระด้างบ้าง แสดงออกมาเป็นเนื้อหนังมังสา เป็น กระดูก เป็นกระะโหลก เป็นเส้นผม เส้นขน ซึ่งมีลักษณะเป็นของแข็ง หรือที่ถูกเรียกว่า “ธาตุดิน”

บางทีกายมนุษย์นี้ก็ขับของเสียออกมา เป็นน้ําเหงือบ้าง เป็นน้ำเลือดบ้าง เป็นน้ําลาย น้ำมูก น้ําตาบ้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลว หรือว่า “ธาตุน้ำ”

กายมนุษย์นี้มีอุณหภูมิปกติที่พอดี คือ ไม่ร้อนเกินไป หรือ ไม่เย็นเกินไป มีความสมดุลในระดับที่อุ่นๆ  สิ่งนี้ถูกเรียกว่า “ธาตุไฟ”

ธาตุสุดท้ายที่เป็นองค์ประกอบของกาย ถูกเรียกว่า “ธาตุลม” ซึ่งในโปรแกรมการพาจิตกลับบ้านนี้จะมุ่งเน้นความสนใจไปที่ “ลมหายใจ”

ลมหายใจนี้เป็นองค์ประกอบที่ทำหน้าที่สำคัญคือ คอยหล่อเลี้ยงบำรุงธาตุต่างๆ ให้ประกอบกันได้อย่างสันติ หรือ สมดุล


ลมหายใจ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกการมีชีวิตของ กายมนุษย์

หากลมหายใจนี้หยุดเคลื่อนไหว ธาตุต่างๆในกายก็ถึงเวลาที่ต้องหยุดทำงานเหมือนกัน



“สรุปโดยย่อ คือ

กายมนุษย์นี้เป็นองค์ประกอบของธาตุทั้งสี่

และมีสัญญาณชีพ คือ ลมหายใจ”




ลมหายใจ นี้เป็นหนึ่งในสามของ รหัสแห่งสติ นั่นคือ รหัสB (B-Code)

B หรือ Breath หมายถึง ลมหายใจ ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์ประกอบธาตุทั้งสี่ที่ประกอบกันเป็นกายมนุษย์

B หรือ ลมหายใจนี้ เป็นลมเดียวกันกับธรรมชาติที่เป็นอากาศโอบอุ้มกายนี้อยู่

ชีวิตมนุษย์ในมิติของ กายมนุษย์ นั้นได้ผู้เรียนได้เรียนรู้พอประมาณแล้ว

บทเรียนต่อไปจึงเป็นเรื่องราวของ จิตมนุษย์



“จิตมนุษย์”

หมายความถึง จิตที่มาครองกายมนุษย์นี้ ซึ่งในโปรแกรมได้สมมติเรียกว่า เรา



“เรา คือ จิต

จิต คือ เรา

เรา คือ จิตผู้มาครองกาย”



(ในความเป็นจริงจิตมีการเกิดดับที่รวดเร็ว ไม่สามารถยึดถือว่าเป็น เราได้ แต่การเรียนรู้ความจริงต้องเรียนผ่านสมมติก่อน ถ้าเข้าใจสมมุติแล้วจึงจะสามารถละสมมติได้ เมื่อนั้นก็จะพบความจริงที่ซ่อนอยู่ในสมมตินี้)





จิตมนุษย์กับกายมนุษย์รวมกันเรียกชีวิตมนุษย์




เรียนรู้ลมหายใจเพื่อไปรู้แจ้งความเป็นกายมนุษย์

เรียนรู้เราที่สมมติเป็นจิตมนุษย์เพื่อรู้จักและเข้าใจตนเองในฐานะจิตผู้มาครองกาย

เรียนรู้ความเป็นเราเพื่อจะเข้าถึงความไม่มีเราอยู่จริง เพราะความจริงเรานั้นเป็นแค่เพียงธรรมชาติที่มีการเกิดดับรวดเร็ว จึงไม่ควรถือมั่น

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นเรามารู้จัก และ จับต้อง สิ่งที่พอจะจับต้องได้ก่อน ก็คือคําว่า     จิตมนุษย์

จิตมนุษย์ ที่สมมุติเรียกว่า เรา นี้ เราเป็นจิตมนุษย์แบบไหน

คำตอบคือ เรา นั้นเป็น จิตปัจจุบัน

เรา คือ จิตปัจจุบัน เรามาอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ซึ่งก็คือ บ้านปัจจุบันของเรา หรือ กายนี้ ที่เรามาครอง

เรามาอาศัยอยู่ในกายนี้ ตั้งแต่วันที่เรามาเกิดอยู่ในครรภ์ของแม่ จนกระทั่งคลอดออกจากครรภ์แล้วกายหายใจได้ด้วยตนเอง แล้วเราก็เป็นเราในปัจจุบัน เราเป็นจิตผู้มาครองกายนี้อยู่ เรานี้ก็สืบต่อมาจากเราคนก่อน

กายที่เรามาครองตอนนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน มีการสืบต่อมาจากกายก่อนหน้านี้ นับจากเป็นกายทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์ของแม่ แล้วเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆจนมาเป็นกายปัจจุบัน ที่มีการสืบต่อมาจากกายของวันวาน กายของเดือนก่อน กายของปีก่อน หากไม่เป็นการสืบต่อเช่นนี้ก็ไม่สามารถมามาเป็นกายปัจจุบันนี้ได้ และกายนี้ก็ต้องสืบต่อไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่กายนี้หยุดหายใจ วันนั้นกายก็ต้องคืนองค์ประกอบธาตุทั้งสี่กลับสู่ธรรมชาติไปจนหมดสิ้น

จิตก็เหมือนกัน จิตที่มาครองกายนี้ มาอาศัยอยู่กับกายตั้งแต่วันแรกที่ปรากฏกายในครรภ์ของแม่ จิตผู้มาครองกาย ก็คือ เรา ก็ครองกายนี้มาเรื่อยๆ เกิดดับๆ สืบต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันที่กายดับ เราก็ดับไปพร้อมกับกาย และต้องเดินทางสืบต่อไปเพื่อไปหากายใหม่อยู่ แล้วไปครองกายนั้นต่อไปอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุดตามลักษณะของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ซึ่งไม่รู้จุดเริ่มต้นของอดีตและไม่รู้จุดสิ้นสุดของอนาคต



การเรียนรู้ความเป็นจริงที่ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราผู้เป็นจิตปัจจุบัน


ในรหัสแห่งสติของโปรแกรม MRP เรา คือ จิตปัจจุบัน เรานั้นต้องพัฒนาตนเองให้เป็นจิตผู้ดูให้สำเร็จด้วยการฝึกฝนตนเองให้เป็นจิตผู้ดูอยู่ที่ฐานจิตผู้ดู (Observer base) คือ O8 ฉะนั้น รหัสที่สอง คือ รหัส O (O-Code) หรือ O8 จึงเกิดขึ้น


เรา คือ ผู้สังเกตการณ์ หรือ จิตผู้ดู ประคองตนตั้งอยู่ที่ O8


บทเรียนนี้ได้พาผู้เรียนมารู้จัก และเข้าใจสองในสามของรหัสแห่งสติในโปรแกรม MRP หรือ Mind Retreat Program หรือ โปรแกรมการพาจิตมาอยู่กับปัจจุบันขณะ หรือ โปรแกรมการพาจิตกลับบ้านแล้ว นั่นคือ รหัส B (B-Code) และรหัส O (O-Code)


บทเรียนก่อนหน้านี้ผู้เรียนได้เรียนรู้ จึงได้รู้จักและเข้าใจ ในรหัสแห่งสติรหัสที่สามแล้ว คือ รหัสที่ชื่อว่า PP-Code ซึ่งได้อธิบายในรายละเอียดว่าด้วยเรื่องของ PP หรือ Problem Point หรือ จุดที่มีปัญหา อันจะส่งผลให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจ “สมมติของกายและจิต” ยิ่งขึ้น


โดยสรุปแล้ว การเรียนรู้รหัสแห่งสติทั้งสามนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในสมมติของกายและจิต ตลอดทั้งสมมติทั้งปวงในโลกและจักรวาล จนกระทั่งสามารถละความถือมั่นในสมมติทั้งหลายได้ด้วยความเชี่ยวชาญในการเจริญสติ และการดำรงชีวิตอัน   ดีงามในแบบของผู้มีสติโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า


“เรียนรู้พร้อมกับลงมือทำ” (Learning by Doing)

และแล้วในที่สุดผู้เรียนจะกลายเป็นผู้รู้แจ้ง
เพราะเหตุว่าตนนั้นได้เห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในสมมตินั้นได้อย่างชัดเจนด้วยตนเองว่า


“สิ่งสมมติทั้งปวงนั้นไม่คงอยู่ถาวร

สิ่งสมมติทั้งปวงนั้นไม่สมบูรณ์

และสิ่งสมมติทั้งปวงนั้นควบคุมไม่ได้”


Previous
Previous

บทความที่ 14: กงล้อแห่งการตื่นรู้

Next
Next

บทความที่ 12: รากฐานของโปรแกรม MRP