บทความที่ 14: กงล้อแห่งการตื่นรู้

13 เทคนิคในโปรแกรม MRP ระดับที่ 2 หรือ ระดับจำเป็น จะมีลักษณะความเป็นหยินหยางแตกต่างกันไป

เช่น การอธิษฐานจิต มีความเป็นหยิน
การตั้งสัจจะอธิษฐาน เป็นหยาง

ออกกำลังจิต เป็น หยาง

สัมมาสมาธิ เป็นหยิน

ให้เห็นว่า ธรรมชาติของพลังจิตของเราที่ปล่อยออกมามีความเป็นหยิน และหยาง

เป็นอุปนิสัยที่ติดตัวเรามาเป็นปกติ เราจึงเรียนรู้ล้อไปกับสิ่งที่เราเป็น

คำสอนพระพุทธเจ้าจะสอนสิ่งที่มีอยู่แล้ว และจะทำให้ทุกคนได้เห็นชัดขึ้น

“พระองค์จะไม่นำสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงมาแสดง”


ในขณะที่ ทำการยืน หรือสลายพลังงานขยะให้เข้าใจว่า

เราได้เชื่อมต่อกับโลกธาตุ คือโลกใบนี้ที่มีธาตุเดียวกันกับกาย ให้เราเชื่อมต่อและสังเกตการนิ่ง และการเคลื่อนไหว ของกาย

การเคลื่อนไหว มีลักษณะของความเป็นหยาง

ความนิ่ง มีลักษณะของความเป็นหยิน

พลังแห่งสติ ทำให้จิตนิ่งแต่มีความเป็นหยุ่น

พลังแห่งตัณหา ทำให้จิตมีความกวัดแกว่งไปมาระหว่าง หยาง และ หยิน

ในธรรมชาติ จิตจะเข้าไปอยู่กับความคุ้นเคยเก่า จึงติดอยู่กับสิ่งที่ตนเป็น

เมื่อตัณหามากระซิบ ยิ่งทำให้ยึดติดได้ง่าย วนอยู่ในวัฏฏะที่ตนเองเวียนวนมา

เราจึงต้องสะสมความเป็นจิตผู้ดูผู้มีอุเบกขาไปเรื่อยๆ เท่ากับว่าเราออกจากความคุ้นเคยเก่าที่เราเห็นและเป็นอยู่ ราวกับว่าเราเป็นนกอินทรีย์ ที่มองจากท้องฟ้า ลงมาบนดินจะเห็นว่าที่ที่ตนเคยอยู่เป็นแบบนั้น โลกเป็นแบบนี้ การเห็นโลกก็จะชัดขึ้น กว้างขึ้น การเข้าไปอาศัยบนโลกก็จะเป็นการอยู่อาศัยแค่เพียงชั่วคราว  

ในขณะที่เราหมุนวงล้อแห่งการตื่นรู้ ให้เราสังเกตว่า เรามีความชอบในอิริยาบถใด

บางคนก็ชอบเดิน บางคนก็ชอบนั่ง ไม่อยากทำอย่างอื่น

สังเกตความไม่อยากทำและพวกเราจะเป็นคนพลิกสถานการณ์

มาเป็นผู้คอยเฝ้าดูที่อยู่เหนือความอยาก 

เราก็จะกลายเป็นผู้ที่มีกำลังของการเป็นผู้ดูที่ชัดขึ้น

ตัณหาก็จะมีอิทธิพลกับเราน้อยลง 

เราจะเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ลำเอียง ด้วยรัก ด้วยชัง

ได้เวลานั่งก็นั่งเพื่อการตื่นรู้ ได้เวลานอนก็นอนเพื่อการตื่นรู้

ความเป็นเหตุผลในตนเองก็จะเพิ่มพูนขึ้น โดยที่ตนสามารถกำกับตนอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นการบังคับ ฝืนใจ 

เราจะเห็นได้ว่า ความที่ไม่อยากทำการหมุนกงล้อแห่งการตื่นรู้ก็จะค่อยๆ จางคลายและหายไปในที่สุด

แม้แต่ความอยากที่จะทำก็ตาม ก็จะค่อยๆจางคลายและหายไปในที่สุด 

แต่จะรู้เพียงแค่ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้เราทำไปเพื่อเหตุใด และมีประโยชน์อะไรกับตน

เรายืน สะสมพลังแห่งสติ ให้เต็มที่ เราจึงรู้ได้ว่าถึงเวลาที่จะไปเดิน เพราะเราจะได้ต่อ ยอดกำลังสติ พลังสติจะควบแน่นและมีกำลัง และมีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง พอสิ้นสุดการเดินเราก็จะหยุดยืน 

แต่เรายืนก็เพราะว่าเราอิ่มจากการที่สะสมพลังสติจากการเดิน แล้วเราก็มาสะสมต่อจากการยืน การนั่ง การนอน




“เหตุต้นและผลปลายเชื่อมต่อกัน”


เหตุต้น คือการเจริญสติ ผลปลายคือ มรรคผลนิพพาน

ในระหว่างทางที่ลงมือทำจะมี PP บวก บ้าง ลบบ้าง หรือไม่บวกไม่ลบบ้าง 

ในขณะที่เกิด PP ต่างๆนี้ เราจะมีแรงบันดาลใจในการสร้างสมดุลให้กับตนเอง ด้วยทักษะความสามารถที่เรามีอยู่ และเพียงพอที่จะนำ PP มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุธรรม จากการเห็น PP ดับตรงหน้าเรา 

มุมมองชีวิตจะเปลี่ยนหมด 

เราจะไม่มีคำว่าการแบกทุกข์ และไม่มีคำว่าต้องการสุข

เราจะมีเพียงแค่การทำหน้าทื่อย่างเข้าใจ

ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าในสติปัฎฐาน 4 

7 วันถึง 7 ปี เรายิ่งเข้าถึงสิ่งนี้

การเกิดสภาวะอารมณ์ โลภ โกรธและหลงผิดจะเป็นยากขึ้น

เราจะเห็นรหัสแห่งสติ คือ O B และ PP ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้นเป็นเครื่องมือในการเจริญสติ อันได้แก่

ลักษณะที่เกี่ยวข้องกับกาย 6 ประการในหมวดของกาย นับตั้งแต่ลมหายใจ จนถึงความเป็นซากศพของกาย 9 ประการ 

สภาวะความรู้สึกของจิต ในหมวดของเวทนา 9 ประการ

สภาพวะอารมณ์ของจิตในหมวดของจิต 16 ประการ

ภูมิปัญญาของจิต 5 กลุ่มในหมวดแห่งธรรม อันได้แก่ อุปสรรค 5 ประการ, ความยึดมั่นต่อกายมนุษย์ 5 ประการ, เครื่องผูกที่มีในอวัยวะรับสัมผัสของโลกภายใน กับโลกภายนอก 6 คู่, ความคล่องแคล่วแห่งจิตผู้ดูผู้มีอุเบกขา 7 ประการ, และความรู้แจ้งในความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ



“ผลลัพธ์แห่งการลงมือทำด้วยการหมุนกงล้อแห่งการตื่นรู้”


สามารถเชื่อมเหตุต้นคือการเจริญสติ

และผลปลายคือมรรคผลนิพพาน

เราจะเห็นทุกอย่างที่แสดงความเปลี่ยนแปลงให้เห็นในปัจจุบันขณะน้ันเป็นโอกาสในการเจริญสติ

เราจะใช้ชีวิตไม่น่าเบื่อ 

เราจะใช้ชีวิตที่ไม่ติดอยู่กับอดีต ที่น่ากลัวที่เราเคยเจอ

และเราจะไม่กังวลกับอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราด้วยความหวาดผวา

เราจะไม่ทำอะไรด้วยอารมณ์ แต่เราจะเห็นสภาวะอารมณ์ที่ปรากฏนั้นเป็นเครื่องมือ และโอกาสที่จะเห็นเขาดับ

แล้วในที่สุดเราจะพบว่าอารมณ์นี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา รวมทั้งสภาวะความรู้สึกนี้ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

เราจะเฝ้าดูไปเรื่อยๆ เราจะไม่เป็นคนสุดโต่งที่ถูกตัณหาหลอก ให้ไปเชื่อมกับความเป็นหยินหยางเดิมที่เราเคยเป็น

และเราก็จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ดุจดั่งนกอินทรีย์ที่เหินอยู่บนท้องฟ้า แล้วเห็นโลกตามความเป็นจริง ชัดขึ้น กว้างขึ้น

และเป็นนกอินทรีย์ที่บินได้นาน เหินเวหาได้นาน และสามารถโฉบกลับไปกลับมาได้ อย่างอิสระ

จิตที่อิสระ ไร้ความปรุงแต่ง หรือจิตที่เป็นความรู้แจ้ง ปลอดจากความยึดติดถือมั่น

ไม่มีเครื่องพันธานการไม่มีตัณหาพันผูก มีอิสรภาพอย่างยิ่ง 

ให้เรายกระดับการมองเห็น ให้เราอย่าได้ยึดติดกับสิ่งที่เราคิดว่าดีหรือไม่ดี

แล้วมองเครื่องมือที่เราคิดว่าดีที่สุด ให้เป็นเพียงเครื่องมือ

สิ่งที่จะบ่งบอกว่าเราไม่ยึดติดคือ ธรรมชาติ 3 ประการ ที่มี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

เพราะเหตุต้น นำไปสู่ผลปลาย เหตุต้น คือ สติ ผลปลาย คือ สภาวะนิพพาน ล้วนอยู่ที่ปัจจุบันขณะ

ซึ่งจะอยู่ที่ปัจจุบันขณะ ณ ตอนไหน เราจึงต้องฝึกการหมุนกงล้อแห่งการตื่นรู้ เพื่อเชื่อม 

เครื่องมือที่อยู่ในกายในเรา ให้เป็นองค์ประกอบที่มีกำลังทุกๆปัจจุบันขณะ

รอเท่านั้นเอง ในช่วงเวลาระหว่าง ตั้งแต่ 7 วันถึง 7 ปี

หากเราเป็นผู้ที่เข้าใจในการใช้ชีวิต เห็นทุกอย่างเป็นหยิน เป็นหยาง

เข้าใจตนเอง ยกระดับจิตขึ้นมาดูเป็น จิตผู้ดูผู้มีอุเบกขา แล้วปล่อยวางความถือมั่น ที่มีต่อโลกนั้น ที่มีต่อหยิน ในหยางนั้นว่า เป็นธรรมชาติที่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

จิตก็จะเปลี่ยน เป็นคลื่นพลังใหม่ที่เรียกว่า หยุ่น 

วิธีปฎิบัติให้เข้าถึงมรรคผลนิพพานอยู่ในสติปัฎฐาน 4 ทั้งหมด

คัมภีร์สติปัฎฐาน 4 เริ่มต้นด้วยอานาปานสติ และจบที่ อริยสัจ 4

ย่อไว้ใน 4 หมวด คือ กาย เวทนา จิต และธรรม

โดยสามารถมองเห็นผ่านสูตร สูตร O + B = PP ในโปรแกรม MRP

B คือ อานาปานสติ ในหมวดของกาย 

O คือ ฐานจิตอยู่ดู อันเป็นฐานที่ตั้งของเป็นจิตผู้ดูผู้มีอุเบกขา ที่มีความคล่องแคล่ว 7 ประการ แสดงลักษณะพลังจิตออกมาเป็น หยุ่น

จิตจะมีความประณีตในการตื่นรู้ตามลำดับนับตั้งแต่ B1-B7

ลมหายใจ สามารถเชื่อมต่อกับชีวิตทางกาย เชื่อมต่อกับสภาวะความรู้สึกของจิต 

เชื่อมต่อกับสภาวะอารมณ์ของจิต เชื่อมต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดความคล่องแคล่วทั้งเจ็ดประการ

เมื่อจิตมีความคล่องแคล่วนี้แล้ว จิตจะนิ่ง โดยมีฐานรองรับ คือ O8 เป็นจิตผู้ดูผู้มีอุเบกขา

ให้วางจิตเบาๆ ตรงกลาง บนผิวหนัง ระหว่างหัวคิ้ว 

ณ ตรงนี้เราสามารถสัมผัสพลังจิตของเราได้ และสามารถรับรู้ทั่วสรรพางค์กายด้วย

รหัส B ได้มาจาก หมวดกาย คือ อานาปานสติ

รหัส O ได้มาจาก หมวดธรรม คือ โพชฌงค์เจ็ด

รหัส PP ได้มาจาก หมวดกาย เวทนา จิต และธรรมที่เหลือ

นอกเหนือจาก O และ B จึงถูกประกอบเป็น PP

ซึ่งก็คือ O+B=PP

เราจะมอง O B และ PP เป็นธรรมชาติ 3 ประการ 

ส่วน = คือ สมดุล หรือ ความเข้าใจที่ถูกต้องชอบธรรมนั่นเอง

O และ B คือ ปัจจุบัน
= คือ สมดุล
PP คือ อดีต อนาคต

พระพุทธเจ้าจึงจำแนก สติปัฎฐานไว้ 4 หมวด

จึงเรียกสติปัฎฐาน 4 ว่าเป็นที่ตั้งของสติ

ใน กาย เวทนา จิต ธรรม จึงถูกย่อเป็นสูตร O + B = PP

ซึ่งสูตรนี้ได้สอดแทรกไว้ในเทคนิคที่ 13 คือ การผสมสูตรรหัสแห่งสติ ใน Levelที่ 2 : Essential level หรือ ระดับ จำเป็น

อันเป็นการสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตร่วมกัน ของกายและจิต

และมีการประเมินตนเองในระดับ Level 4: Master 

ว่าตนเป็นผู้มีสติ เป็นปรมาจารย์แห่งสติ

โดยการใช้สติปัฎฐาน 4 นั้นมาวัดผล ร่วมกับ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ

ซึ่งเราสามารถใช้กลยุทธ์ การหมุนกงล้อแห่งการตื่นรู้ ออกกำลังจิต สามสหาย มาเติมกำลังให้เราเป็นจิตผู้ดูผู้มีอุเบกขา

ความต่อเนื่อง ในการหมุนกงล้อแห่งการตื่นรู้

คือการไหลเรื่อย เหมือนจุดไข่ปลาที่เป็นเส้นเป็นสาย

สิ่งนี้จบ จึงเป็นสิ่งนี้ ดูไปเรื่อยๆ ดูลมพัดเข้าและออก เหมือนจุดไข่ปลา

จุดเริ่มต้นของการพัดเข้า ไปจนถึงการพัดเข้าสุด ในระหว่างการพัดเข้า ออก ก็มีการเชื่อมต่อของลมหายใจ เป็นละรอกๆ เริ่มต้น ท่ามกลาง และสิ้นสุด

การเคลื่อนไหวของเท้า

การเคลื่อนไหวของชีพจร หรือ ลมภายใน 

หรือแม้กระทั่งกายที่มีการเกิดดับที่แสดงให้เราดู

ให้เรารับรู้ ไปเรื่อยๆ 

เมื่อสัมผัส พลังจิตของตนเอง

เราจะเห็นการเกิด ดับที่เป็นรัศมี กว้าง รัศมีแคบ 

ใช้ความเป็นผู้มีความคล่องแคล่วในการพัฒนาตนเอง ให้เข้าถึงซึ่งเป้าหมายในการมาเข้าแค้มป์ระดับสแตนดาร์ด คือ เป็นจิตผู้ดีผู้มีอุเบกขา 

ดูจนเห็นการเคลื่อนไหวที่ละเอียด เฝ้าดูไปเรื่อยๆ มีการเตือนตน จากการท่องคาถา ใช้ทุกๆ เทคนิคเพื่อเติมเต็มความเข้าใจ และความคล่องแคล่วในการลงมือทำ

จงอธิษฐานเมื่อเรารู้สึกผ่องใส จะมีกำลังมากที่สุด

แม้เพียงเวลานิดเดียวเราก็สามารถส่งคำอธิษฐานขึ้นสู่จักรวาลอันกว้างใหญ่

ก็จะมีผู้อนุโมทนา แรงอธิษฐานนั้นก็จะเป็นแรงหนุนให้ชีวิตเราดำเนินไปสู่แรงอธิษฐานนั้น อย่างไม่หวั่นไหว และมั่นคง

ตัณหาจะไม่สอนให้เราเข้าสู่มรรคผลนิพพาน

สติคือแม่ เท่านั้น ที่จะบอกเราให้ไปสู่กระแสพระนิพพาน

เราจึงไม่ได้อธิษฐานด้วยความโลภ แต่ทำด้วยความตื่นรู้

มารจึงไม่ได้ช่อง 

ให้เพียรหาจังหวะอธิษฐาน ในทุกๆช่วงเวลาของ ปัจจุบันขณะ 

การเป็นจิตผู้ดูผู้มีอุเบกขา แปลว่า เราได้เดินสุดทางสายเอก

และเมื่อเราเห็นพลังงานตนเองที่เป็น หยุ่น (ซึ่งอาจเจือด้วยหยางบ้างหยินบ้าง) ดับ

ทันทีนั้นเราจะเข้าใจความจริงอันประเสริฐทั้ง 4 ประการ

จากการฝึกในรหัส B และรหัส O เราจะฝึกดูการดับ ซึ่งเป็นไปได้ในทุกๆ ขณะ ทำให้เรา ตระหนักรู้ ตลอดมาว่า เรามาเพื่อทำสิ่งนี้เพื่อให้สำเร็จ ในการเดินบนทางสายเอก และสายกลาง

พระพุทธเจ้าท่านส่งพวกเรา แค่สุดทางสายเอกเท่านั้น 

การบรรลุธรรมต้องทำเอง 

เราต้องก้าวข้ามทางสายเอก แล้วไปย่ำตรงทางสายกลาง ด้วยการเห็นความดับของ เครื่องมือทั้งหมด แม้กระทั่ง จิตผู้ดูผู้มีอุเบกขาก็จะดับลง 

เมื่อเห็นทุกอย่างดับหมด ความรู้แจ้งใหม่จะปรากฏขึ้นทดแทนทันที

ประสบการณ์การเห็นความดับ ตื้นบ้าง ลึกบ้างนี้

จะนำพาเราให้เดินเข้าสู่ทางสายกลาง ไปเป็นอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

ให้เราสนใจในการเดินทางมาให้สุดทางสายเอกด้วยการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องนี้

และต้องมีความไม่ท้อในแบบผู้ที่มีสติ เชื่อมั่นในตนเองว่า ทำได้ และกำลังจะทำได้



“การฝึกหมุนกงล้อแห่งการตื่นรู้ 

คือการฝึกมองโลกตามความเป็นจริง”


เราจะเห็นความละเอียดไปจนถึงความหยาบ ความลึกไปจนถึงความตื้น

เห็นแคบไปสู่กว้าง เห็นกว้างมาสู่แคบ ภายในไปสู่ภายนอก

และจะรู้ว่าภายนอกมาสู่ภายในเป็นทิศทางเดียวกัน

คือเป็นธรรมชาติ 3 ประการ

ประสบการณ์จากการหมุนกงล้อแห่งการตื่นรู้ จากในห้องเรียนไปสู่นอกห้องเรียน

จะเห็นเป็นทิศทางเดียวกับห้องเรียน เราจะรู้ว่ามีเครื่องมือในการเจริญสติเต็มไปหมด

ในชีวิตที่เราจะต้องเจอเรื่องราวมากมายตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนกระทั่งเข้านอน

สังเกตตนเองผ่านการสังเกตกาย และสังเกตตน ควบคู่กันไปให้ต่อเนื่อง

จุดหมายปลายทาง คือการบรรลุธรรมสู่มรรคผลนิพพาน

เมื่อเราเป็นผู้บรรลุธรรม

เราจะสามารถรับมือปรับสมดุลชีวิตได้ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิต 

หน้าที่ของเราคือพิสูจน์ตนเองด้วยการเป็นศิษย์มีครู ลูกพระตถาคตเช่นนี้ แล้วเราจะสำเร็จตามที่พระองค์พุทธองค์ตรัส



“นี่คือผลลัพธ์จากการหมุนกงล้อแห่งการตื่นรู้”




Next
Next

บทความที่ 13: สมมติของกายและจิต