บทความที่ 8: B6 ประตู และ มะโนหรือใจ
ให้ผู้เรียนพากายนั่ง ตั้งกายให้ตรงพอสบาย วางศีรษะ ลำคอ บ่า ไหล่ หลัง เอว แล้วประคองกายที่นั่งอยู่นี้ให้พอดี ให้รู้สึกตรง แต่ไม่ตึงเกินไป สบายๆจากนั้นให้สัมผัสรับรู้พลังจิตที่มีสติของตนเองที่ O8 จนรู้สึกชัดแล้วจึงเคลื่อนตน ออกจาก O8 ไปพักตนไว้บน ประตู สักครู่หนึ่ง
ลำดับถัดมาให้ผู้เรียนหย่อนตนลงไปในแนวดิ่ง โดยเคลื่อนผ่าน B5 ไปโดยไม่ต้องแวะแล้วไปสัมผัส B6 เมื่อสัมผัส B6 ได้ ให้พวกอยู่แนบชิดติดอยู่กับ B6 นั้นให้ต่อเนื่องยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถ้าสัมผัส B6 ได้แล้วหลุด ขอให้ผู้เรียนอย่าท้อ ให้รีบประคองตนไว้บนประตู แล้วจงกลับลงมาใหม่ ให้ทำซ้ำอยู่อย่างนี้จนกระทั่งเกิดความคุ้นเคย
หลังจากที่สามารถสัมผัส B6 ได้ชัดเจนแล้ว ให้ทดลองขยายความรู้สึก หรือขยายพลังจิตของตนเองแผ่ออกไปรอบๆบริเวณที่ตั้งของ B6 จนกระทั่งสามารถรับรู้ถึงพลังจิตที่มีความเป็นหยางอุ่นๆให้ทั่วบริเวณหน้าอก หรือบริเวณรอบๆที่ตั้งของ B6
ให้ผู้เรียนแผ่ขยายความรู้สึกอุ่นๆ อันเกิดจากพลังจิตของตนเองเช่นนี้ไปเป็น วงกว้างอย่างช้าๆนุ่มนวล โดยปล่อยให้ B6 เคลื่อนไหวตามธรรมชาติของเค้า แต่เรานั้นให้ขยายความรู้สึกของตนที่มีความเป็นหยางอุ่นๆ (อันเกิดจากการตื่นรู้อยู่กับ B6) ออกจากที่ตั้งของเค้านี้ให้ขยายออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ
แผ่ออกไปให้ครอบคลุมบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดของลมภายใน หรือ ชีพจร ซึ่งก็คือ หัวใจ ที่เต้นอยู่ โดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัสลึกแรงถึงข้างในของก้อนหัวใจก้อนนี้ แต่ให้เรานั้นได้ใช้พลังจิตของเราเข้าไปสัมผัสหัวใจก้อนนี้ด้วยความแผ่วเบา อ่อนโยน ละมุน เสมือนหนึ่งเราใช้มือสัมผัสศีรษะเด็กทารกน้อยเบาๆ นุ่มนวล อบอุ่น
หากทำได้ดังกล่าว เราจะรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจที่เป็นธรรมชาติของเค้าอันจะทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจนว่า หัวใจนี้นี่เองที่เป็นจุดกำเนิดของ ชีพจร หรือ ลมภายใน ที่มีอยู่ทั่วสรรพางค์กาย
แต่เราจะเลือกใช้ประโยชน์จากหน้าที่ของหัวใจที่เต้นอยู่นี้ เพียงสี่จุดเท่านั้นที่เป็นลมภายในเพื่อใช้ในการเจริญสติ ซึ่งก็คือ B4, B5, B6 และ B7
หัวใจทำหน้าที่บำรุงสมองด้วยการลำเลียงสารอาหาร และธาตุบำรุงที่มีประโยชน์สู่สมอง และการระบบต่างๆทั่วร่างกาย ผ่านระบบการไหลเวียนโลหิต ที่มีหัวใจเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่
การเคลื่อนไหวของหัวใจเป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้ร่างกายนั้นสามารถประคองตนในระบบก้อนธาตุ และระบบแห่งกายได้ยังมีประสิทธิภาพ ตลอดเวลา
เมื่อผู้มีสติ สามารถสัมผัสการเคลื่อนไหวในการทำงานของหัวใจได้แบบไม่เพ่ง และนุ่มนวล ด้วยพลังจิตของตนเองที่มีความเป็นหยาง อุ่น ๆ ได้ชัดเจนแล้ว ต่อมาให้ทดลองเลื่อนการสัมผัสขึ้นมาอยู่เหนือก้อนหัวใจก้อนนี้บริเวณมุมขวาบนของหัวใจ อันเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดกับ B6 และอยู่ในระดับใกล้เคียงกันด้วย
ณ จุดนี้เป็นที่ตั้งของ มะโนหรือใจ ให้เรานึกภาพเปรียบเทียบเหมือนดั่ง จมูกที่วางแปะไว้บนใบหน้า มะโนหรือใจ นี้ ก็เป็นจุดเล็กๆ ที่วางไว้แปะไว้กับหัวใจก้อนนี้
มะโนหรือใจ นี้ ไม่ได้เต้นแบบหัวใจเต้น แต่เคลื่อนไหวตาม การเต้นของหัวใจ เท่านั้น
เราเคยสัมผัสจุดอันเป็นที่ตั้งของ มะโนหรือใจ นี้จริงๆ แล้วหรือยัง?
หากยัง ให้ฝึกฝนทดลอง โดยปล่อยให้หัวใจเต้นตามปกติ และปล่อยให้ B6 เคลื่อนไหวตามธรรมชาติของเค้า เพียงแต่เรานั้น ไปเน้นความสนใจบริเวณมุมขวาบนของหัวใจ ที่อยู่ใกล้กับ B6 อันเป็นที่ตั้งของ มะโนหรือใจ นี้ ก็พอ
ลองสัมผัสรับรู้สบายๆ บริเวณนี้ จิตจะเห็นว่ากายนี้ยังมีองค์ประกอบของการทำหน้าที่ร่วมกับกันกับระบบกายทั้งห้าคู่คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย นั่นคือ มะโนหรือใจ
มะโนหรือใจ นี้ทำหน้าที่ในการรับรู้ ธรรมารมณ์
ธรรมารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ประณีตละเอียด กายจึงต้องสร้างระบบการรับรู้ที่ประณีตละเอียดในระดับเดียวกันขึ้นมา นั่นคือ มะโนหรือใจ
การเห็นแจ้งระบบกายคู่นี้ต้องอาศัยความประณีตะเอียดของเราด้วย โดยการใช้พลังจิตที่มีลักษณะเป็นหยางอุ่นๆ เข้าไปสัมผัสการทำงานของกายคู่นี้ผ่านทักษะการตื่นรู้อยู่กับ B6 ควบคู่กันไป
ฝึกฝนเช่นนี้ไว้ให้ชำนาญ วันหนึ่งไม่นาน เราจะเข้าใจความอัศจรรย์ของกายมนุษย์คู่นี้ด้วยตนเอง
ดังนั้น ในยามที่เราพากายหลับตาคู้บัลลังก์แบบนี้ แล้วปรากฏภาพขึ้นมาให้เราประคองตนอยู่กับ B6 เมื่อเราสัมผัสได้เราจะรู้ทันทีว่า มโนหรือใจ นี้ทำงานอย่างไร เหมือนที่เราคุ้นเคยกับตาเนื้อในยามที่ทำงานเมื่อมีรูปมา กระทบ แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่กายหลับตา และกายลืมตา แล้วเห็นภาพเท่านั้น
หากเป็นเช่นนี้ ให้เราเป็นจิตผู้ดู ดูจนกระทั่งเห็นสิ่งที่เรารับรู้จากการดู คู่ของมะโนและธรรมารมณ์ นั้นทำงาน จนสิ้นสุดไปตามวาระ แต่ละขณะ แต่ละขณะ แล้วดูความสัมผัสกับการเต้นของ B6 เท่านี้เราก็จะได้ประโยชน์สูงสุดคือ เกิดภูมิปัญญารู้แจ้ง หรือ วิปัสสนาญาณ ด้วยการเห็นธรรมชาติสามประการ ของการทำงานของ มะโนหรือใจ ที่รับธรรมารมณ์อยู่นั้นว่า ไม่คงอยู่ถาวร ไม่สมบูรณ์ และบังคับไม่ได้
หากผู้ใดที่สามารถสัมผัสประตูได้ ให้อุ่นใจไว้เลยว่าตนนั้นจะสามารถสัมผัส B ที่อยู่ใต้ประตู หรือ B ที่อยู่ในแนวดิ่งนี้ได้ คือ B6 ในเวลาไม่ช้าก็เร็ว ตามกำลังสติที่ตนเองมี
เมื่อผสานกับสิ่งที่ตนสนใจใฝ่รู้ หรือ สิ่งที่ตนกำลังฝึกฝนอยู่นี้ คือ การฝึกเจริญสติ ซึ่งเป็นธรรมชาติของการเรียนรู้อยู่แล้ว เมื่อรวมกัน ย่อมเป็นไปได้ว่า ผู้เรียนจะสามารถสัมผัสลมภายใน คือ B6 นี้ได้อย่างชัดเจน และใช้เวลาฝึกฝนอีกไม่นานเกินรอ
บทเรียนนี้จะเป็นเรื่องราว และเนื้อหาสาระ ที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ลักษณะ และคุณประโยชน์ของ B6 อันเป็นการฝึกเจริญสติที่ต่อเนื่องจากการสัมผัสรู้ B ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนพัฒนาความตื่นรู้ในการอยู่กับปัจจุบัน ที่ประณีตละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับนับตั้งแต่ B1 จนถึงปัจจุบัน
ในยามที่เราแปลกใจ หรือ ตกใจ หรือ ตื่นเต้น แล้วรู้สึกถึงการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ในยามที่เผชิญที่คาดไม่ถึง แล้วมีอาการ ใจหายบ้าง ใจเสียบ้าง อาการวูบวาบเสียวสันหลังบ้าง ฯลฯ ด้วยเรื่อง ที่คาดไม่ถึง เช่น นั่งภาวนาหลับตาแล้วจู่ๆก็เห็นภาพแปลกๆที่ตนไม่ได้จินตนาการ หรือ ได้ยินเสียงที่ไม่คุ้นเคย หรือ ได้กลิ่นแปลกๆที่ไม่มีในบริเวณนั้น หรือ อยู่ผู้เดียวแต่รู้สึกสัมผัสบางอย่างเหมือนมีใครที่ไม่ใช่คนมาอยู่ด้วย เป็นต้น
หรือแม้แต่ในการดำรงชีวิตประจำวันแล้ว ได้รับข่าวความตายบ้าง ได้ข่าวรับข่าวเรื่องความสูญเสีย หรือ สิ่งที่ไม่อยากจะรับฟัง หรือ ไม่อยากเผชิญ แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้บ้าง และ ฯลฯ
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีนั้น สามารถกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรง ทำให้หลายคนตกใจจนช็อคหัวใจหยุดเต้นไปเลยก็มี
ดั่งที่ได้ยกตัวอย่างไปในเบื้องต้น ถ้าหากใครเคยมีประสบการณ์พบเจอลักษณะ หรือ อาการต่างๆเหล่านั้น จะเห็นได้ว่าบางทีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ทันตั้งตัว
เราจะทำอย่างไร หากต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้อีก?
ความตื่นรู้จากทักษะการสัมผัส B6 ช่วยให้รับมือเรื่องนี้ได้อย่างอัศจรรย์!!!
การที่จิตอยู่กับ B6 จะทำให้จิตเห็น และเข้าใจในลักษณะธรรมชาติที่ละเอียดของ B6 ว่าเหมาะสมยิ่งต่อการช่วยเหลือให้ตนนั้นมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับอาการแปลกใจ หรือ ตกใจ หรือ ใจหาย ดั่งที่ได้กล่าวไปเมื่อครู่ได้ทันเวลา
ความคุ้นเคยเก่าที่ปกติทั่วไปผู้เรียนจะคุ้นเคยกับการทำหน้าที่ของระบบกายที่ทำหน้าที่ของเค้ามาเป็นอย่างดีแล้ว เช่น ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส ผิวกายกับสิ่งที่สัมผัสผิวกาย
บทเรียนครั้งนี้จะพาผู้เรียนมาทำความเข้าใจในสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่คุ้นเคย นั่นคือ มโนหรือใจกับธรรมารมณ์
ทักษะการตื่นรู้อยู่กับ B6 จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเรื่องนี้แจ่มแจ้งขึ้น
เมื่อใดที่จิตมาอยู่กับ B6 จะสามารถเห็นการทำงานของมโนหรือใจในการรับรู้ธรรมารมณ์
ธรรมารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏตามธรรมชาติ แต่มีความประณีตละเอียดกว่า รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัส ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ตามปกติในชีวิตประจำวัน
ยกตัวอย่างเช่น หลับตา แต่เห็นภาพที่ไม่ได้นึกคิด จินตนาการ และเป็นภาพที่ตนไม่ได้จงใจสร้าง แต่เป็นภาพที่เห็นโดยไม่ได้ลืมตา นั่นคือ การทำหน้าที่ของระบบกายที่ชื่อว่า มโนหรือใจ ที่ทำหน้าที่นี้
ในยามที่หลับตา แล้วเห็นภาพ ภาพนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมตนจึงเห็นภาพนั้นได้ เราจะเข้าใจ ก็ต่อเมื่อเรามาตื่นรู้อยู่กับ B6
เสียง ที่ไม่ใช่เสียงที่ปกติที่เราได้ยิน เราได้ยินเสียงนั้นได้อย่างไร เสียงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะเข้าใจ ก็ต่อเมื่อเรามาตื่นรู้อยู่กับ B6
กลิ่น ที่ไม่คุ้นเคยในชีวิตปกติ กลิ่นนี้มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมเราจึงได้กลิ่นนี้ เราจะเข้าใจ ก็ต่อเมื่อเรามาตื่นรู้อยู่กับ B6
ฯลฯ
ในยามที่ผู้เรียนมาเป็นผู้ตื่นรู้ด้วยการอยู่กับ B6 จะสามารถมองเห็นสิ่งที่ประณีตละเอียดยิ่งของระบบกายระบบนี้ที่ทำทำหน้าที่ได้อย่างน่าอัศจรรย์คือ เรื่องของมโนหรือใจ ที่เป็นอวัยวะหนึ่งของกายในการรับรู้ธรรมารมณ์
ผู้เรียนจะสามารถแยกตนออกจากกาย ที่เรียกว่า ใจหรือมโน และจะเกิดความเข้าใจ หรือ ความรู้ขึ้นใหม่ว่า มะโนหรือใจ จะรับรู้สิ่งที่กายส่วนอื่นรับสัมผัสไม่ได้ นั่นเอง
B6 จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อจิตหรือเรา ในยามที่เรามีความตื่นรู้ในการมาสัมผัสเค้าแล้วเห็นการทำงานของ มโนหรือใจกับธรรมารมณ์ ได้อย่างชัดเจนเช่นนี้
B6 คือ ชีพจร หรือ ลมภายใน ซึ่งเป็นลมหายใจที่ประณีตละเอียด ตั้งอยู่บริเวณใต้กระดูกอ่อนลิ้นปี
ผู้เรียนส่วนมากเคยมีประสบการณ์ในการสัมผัสรับรู้จุดนี้มาแล้ว นั่นคือ ตอนที่ใช้มือกดบริเวณลิ้นปี่นี้ หรือ ในยามที่มีกรดแก๊สในกระเพาะ หรือ มีอาการโรคกระเพาะอักเสบ หรือ มีอาการกรดไหลย้อน แล้วรู้สึกจุกแน่น เจ็บปวด เจ็บแสบ เจ็บเสียด เกิดขึ้นบริเวณลิ้นปี ซึ่งจุดนี้จะแสดงการเต้นของชีพจรให้เห็นอย่างชัดเจน จุดนี้นี่เองที่เรียกว่า B6
B6 คือ ลมภายใน หรือ ชีพจร ที่อยู่ตั้งอยู่ใต้กระดูกอ่อนลิ้นปี่
B6 ตั้งอยู่ใกล้กับหัวใจ ซึ่งหัวใจนี้ เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ทำงานเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เกิดการเต้นของชีพจร หรือ ลมภายใน ทั่วสรรพางค์กาย ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน
เราแค่วางตนไว้กับ B6 ในที่ตั้งของเค้านี้ เราก็จะสามารถสัมผัสลักษณะของ B6 ที่เป็นชีพจรที่เต้นจังหวะเดียวกับหัวใจเต้นโดยไม่ยาก
เมื่อเราวางตนไว้ที่นี่ได้แล้ว ความเป็นปัจจุบันก็เกิดขึ้น ว่าปัจจุบันนี้เราอยู่กับ B6 พลังแห่งสติในตนก็จะเพิ่มพูนขึ้น เมื่อนำไปสมทบกับการสัมผัสพลังจิตที่มีสติของตนเองที่ O8 ย่อมเกิดการสงเคราะห์และสนับสนุนให้ตนมีพลังแห่งสติเพิ่มขึ้นยิ่งกว่าเดิม
จิตคือเราก็จะมีการตื่นรู้ต่อเนื่องด้วยการ สัมผัสไปมาระหว่างการสัมผัสพลังจิตที่มีสติของตนเองที่ O8 และ ไปเพิ่มพลังแห่งสติให้กับตนเองด้วยการตื่นรู้อยู่กับ B6 และอย่าลืมเตือนตนทุกครั้งที่ไปสัมผัส B6 ว่าจะต้องเดินทางผ่านประตูอยู่เสมอๆ
หากเป็นเช่นนี้ การผสมสูตรรหัสแห่งสติ คือ O8+B6=PP (ธรรมารมณ์) ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติแล้วหนอ
ธรรมชาติสามประการ คือ ความไม่คงอยู่ถาวร ความไม่สมบูรณ์ และการบังคับไม่ได้ ย่อมปรากฏให้เห็นจิตเห็นอย่างเด่นชัดทุกครั้งหากเราสามารถ เห็น PP คือ ธรรมารมณ์ เกิดดับๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลง ในยามที่เราเป็นผู้ดูอยู่กับ O8 หรือ B6 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยามใดที่จิตคือเรา สามารถเป็นจิตผู้ดูจนกระทั่งเห็น PP คือ การปรากฏของธรรมารมณ์ที่มะโนทำหน้าที่รับรู้อยู่นั้น ดับลง เราจะบังเกิดภูมิปัญญารู้แจ้งที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ขึ้นมาทันที
ณ ปัจจุบันขณะนั้น เราจะพบความจริง และเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงนั้น ไม่คงอยู่ถาวร ไม่สมบูรณ์ และบังคับไม่ได้