บทความที่ 1: การศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง กระบวนการการจัดการที่หลากหลายที่นำไปสู่การเรียนรู้จากสภาพแวดล้อม สถานการณ์ ปัจจัยเกื้อหนุน สื่อแห่งการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการจัดกระบวนการให้ความรู้ และประสบการณ์ ที่ผู้เรียนเป็นผู้กำหนด เป้าหมายในการเรียนรู้ด้วยตนเอง

การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ได้แก่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ เพื่อเอื้อให้บุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรเกิดการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ยืดหยุ่นสามารถตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตามศักยภาพ ความพร้อม โอกาสตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถนำประสบการณ์การเรียนรู้มาใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

แนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง แนวความคิดที่พัฒนามาจากกระบวนการวิจัยตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และการประเมินโดยผู้บริหารสถานศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในมุมมองของการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ หลักการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งสามารถเป็นแนวทางไปสู่การปฏิบัติจริงได้

การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การสนับสนุน ส่งเสริม และการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน จากสถานการณ์ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สังคม และวิถีชีวิต ตลอดจนการตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองของปัจเจกบุคคล ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกช่วงวัย ต่อเนื่องยาวนานไปตลอดชีวิตจนตาย

การศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการศึกษาเพื่อทุกคนในสังคม ที่เน้นความความเสมอภาค โอกาส และสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้จัดการศึกษาตามอัธยาศัยต้องทำความเข้าใจกับสภาพพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมาย และการจำแนกประเภท การกำหนดกิจกรรม และบริการทางการศึกษา ให้แต่ละกลุ่มได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง และสอดคล้องตามความต้องการต่อไป

จากความสำคัญของการศึกษาตามอัธยาศัย อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาตามอัธยาศัย มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ทุกช่วงของชีวิตของบุคคลกลุ่มเป้าหมายคือ คนทุกคนในสังคม และเป็นการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้ผู้เรียนได้เลือกเรียน และวิธีการเรียนตามความต้องการ เพื่อให้บุคคลสามารถพึ่งตนเอง มีความรู้ ทักษะที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง สามารถนำความรู้ที่ได้รับมาประยุต์ใช้กับชีวิตจริงได้ ตลอดจนเป็นการศึกษาที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning society, คมกฤช จันทร์ขจร)

การศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการจัดกระทำโดยองค์การ สถาบันเพื่อจุดประสงค์ทางการศึกษาทั้งโดยตรง และทางอ้อม ได้แก่

  1.  งาน และโปรแกรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา

  2.  แหล่งความรู้ในชุมชน เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสนสถาน แหล่งศิลปวัฒนธรรม เช่น วัด โบสถ์ มัสยิด หอศิลปะ อุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถานโบราณวัตถุ

  3. แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ศูนย์วิทยาศาสตร์อุทยานการศึกษา พิพิธภัณฑ์เด็ก ศูนย์ข้อมูลต่างๆ ฯลฯ

  4. สื่อสารมวลชน สื่อโทรคมนาคม สื่อสารสนเทศ

  5. แหล่งนั้นทนาการ และสนามเด็กเล่น สนามหรือศูนย์กีฬา สวนสาธารณะสวนสมุนไพร อุทยานมัจฉา สวนผีเสื้อ เป็นต้น

  6. แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

  7. หน่วยงานบริการของรัฐต่างๆ

  8. องค์กรเอกชน ซึ่งจัด ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ

โปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย มีลักษณะเป็นโครงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ผู้จัดกำหนดขึ้นอย่างเป็นระบบ แต่มีจุดมุ่งหมายที่มีความยืดหยุ่นเพื่อ ส่งเสริมการเรียนรู้ของบุคคลอย่างอิสระ โดยการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในวิถีชีวิต และมีการประเมินผลที่คำนึงถึง ค่านิยม เจตคติ นวัตกรรม และผลลัพธ์ของการปฏิบัติ

องค์กรเอกชน หรือ มูลนิธิ หรือ สมาคม เป็นแหล่งจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในลักษณะ ต่างๆ ตามขอบเขตหรือจุดมุ่งหมายขององค์กรนั้นๆ กำหนดไว้ ซึ่งรัฐควรให้การสนับสนุน และจัดให้มีการประกาศเกียรติคุณองค์กรที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย

(ข้อมูลอ้างอิงจากปริญญานิพนธ์ของ คมกฤช จันทร์ขจร
เรื่อง การพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต)

Previous
Previous

บทความที่ 2: ตัวอย่างของสถาบันภายใต้มูลนิธิ